Basic Lightroom : Develop Module part 1

      โปรแกรม Adobe Lightroom ถือว่าเป็นโปรแกรมปรับแต่งภาพที่เป็นที่นิยมค่อนข้างมาก เนื่องจากมีความยืดหยุ่นในการใช้งานที่ค่อนข้างสูงมาก นอกเหนือจากการปรับแต่งภาพที่อันนี้ถือเป็นจุดเด่นของโปรแกรมอยู่แล้ว คือปรับแต่งได้ทีละหลายๆภาพ
      โปรแกรมนี้ยังสามารถจัดหมวดหมู่ของภาพ, จัด index, ย่อภาพ, ส่งภาพเข้าโซเชียลมีเดียได้ทันทีหลังจากปรับแต่งภาพเสร็จ, ทำ Slide show หรือส่งภาพที่ผ่านการปรับแต่งเข้าไปปรับแต่งด้วยโปรแกรมอื่นได้อย่างง่ายดาย ฯลฯ
      ที่พูดมาข้างต้นเป็นแค่ความสามารถส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกมาก ซึ่งผมนำมาพูดภายหลัง ใน part อื่นๆ (คิดไว้ในใจ ว่าจะเขียนให้ครอบคลุมทั้งโปรแกรม เท่าที่ความเข้าใจผมจะหยั่งถึง แต่อาจจะใช้เวลานานหน่อย ) แต่วันนี้ผมจะมาพูดถึงส่วนหลักของโปรแกรมที่ทุกคนที่เข้าใช้โปรแกรมนี้ต้องใช้งาน ไม่งั้นจะซื้อโปรแกรมนี้มาทำไม ซึ่งก็คือส่วนปรับแต่งภาพ หรือ Develop Module นั่นเอง

แท็บ ของ Develop Panel จะอยู่ติดกับ Library ที่มุมขวาบนของหน้าต่างของโปรแกรม
      Develop Module ในโปรแกรม Adobe Lightroom ถือว่าเป็นส่วนหลักของผู้ที่ต้องการปรับแต่งภาพต้องเข้ามาใช้งาน การเข้าไปใช้งานส่วนนี้ก็ทำได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่เปิดโปรแกรมขึ้นมา จากนั้นให้ดูทางมุมขวาของจอภาพของท่าน และคลิ๊กคำว่า Develop โปรแกรมก็จะพาท่านเข้าประตูไปสู่โลกแห่งการปรับแต่งภาพ

พื้นที่ทำงานในหน้า Develop Panel
      เมื่อท่านเข้ามาสู่หน้า Develop แล้ว ท่านก็จะพบส่วนย่อยที่สำคัญๆอยู่ 5 ส่วน (ผมแบ่งเองนะครับ บางส่วนที่มันยิบย่อยเกินไป หรือเกินความรู้ความสามารถของผม ผมจะไม่พูดถึงนะครับ) ไล่เรียงตามตัวเลขที่ผมได้จัดแบ่งไว้ดังภาพด้านบน มีรายละเอียดอะไรบ้าง เรามาดูไปด้วยกัน
  1. Navigator : มีลักษณะเป็นหน้าต่างที่แสดงภาพทั้งหมดที่เราต้องการจะปรับแต่ง เป็นพื้นที่สำหรับควบคุมการย่อภาพหรือขยายภาพ สามารถเลือกระดับการซูมได้หลายระดับเลย มีหัวข้อย่อยให้เลือกกันได้ ส่วนนี้ใช้งานง่าย สามารถลองไปกดเล่นได้ ผมขอไม่ลงรายละเอียดนะครับ
  2. Preset : เป็นส่วนของโทนภาพสำเร็จรูป ซึ่งโปรแกรมแบ่งหมวดหมู่ไว้ให้มากมาย วิธีใช้งานก็แสนง่าย เพียงแค่คลิ๊กที่ชื่อ Preset ที่เราต้องการ ก็เป็นอันจบ เรายังสามารถไป Load Preset ที่ชื่นชอบมาใช้งานได้(มีขายและแจกฟรีเยอะแยะเลย) หรือเราสามารถเซฟโทนภาพซึ่งเราได้ปรับไว้ให้เป็น Preset ของเราเองเพื่อนำมาใช้งานกับภาพอื่นในภาพหลังก็ได้ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้ครับ
  • การ Load Preset : อันดับแรกให้โหลด Preset ที่เราจะนำเข้าใช้งานมาก่อน จากนั้น ในส่วนด้านล่างของหน้าต่าง ท่านจะเห็นคำว่า User presets ให้ทำการคลิ๊กขวาที่ตรงนั้น เลือก import จบ ง่ายๆ
  • การ Save Preset ของเราเอง : หลังจากแต่งภาพได้โทนภาพที่ถูกใจแล้ว อันดับแรกให้กดที่เครื่องหมาย + ที่มุมขวาบนของหน้าต่าง Preset ก่อน จากนั้นจะมีป๊อปอัพเด้งขึ้นมาตามรูปด้านล่าง

 

ป๊อปอัพ New Develop Preset ที่เด้งขึ้นมาให้เลือกหลังจากกดเครื่องหมาย +
      ให้ทำการตั้งขื่อ เลือกโฟลเดอร์ที่จะเก็บ Preset ของเรา เลือกค่า Setting ที่เราต้องการจะเซฟ ให้เรียบร้อย จากนั้นกด Create เป็นอันจบสิ้นกระบวนการ หรือถ้าหากมีการตบแต่งภาพในภายหลังและอยากจะเซฟไว้ที่ Preset เดิม ก็เพียงแต่คลิ๊กขวาที่ชื่อ Preset ของเรา และเลือก Update with Current Settings เป็นอันจบ กระบวนการ…. ( แค่ Preset เรื่องเดียวก็ยาวจุงเลอ 😫😫😫😫)
3. History : ส่วนนี้จะแสดงสเต็ปการแต่งภาพของท่านสเต็ปต่อสเต็ป ซึ่งท่านจะสามารถย้อนดูหรือย้อนมาแก้ไขได้ตั้งแต่แรก
4. หน้าต่างภาพหลัก : ส่วนนี้เป็นส่วนที่ท่านจะใช้ในการทำงานกับรูปของท่าน ทั้งการซูม ครอป ตัด แต่ง ระบาย แก้ไข ทุกอย่าง ทำที่ตรงนี้

Develop toolbar
5. Develop toolbar : ส่วนนี้ถือเป็นหัวใจของ Develop panel เลยก็ว่าได้ เนื่องจากเป็นส่วนที่เครื่องมือที่ใช้สำหรับปรับแต่งภาพอยู่ตรงนี้ทั้งหมดทุกสิ่งอย่าง ซึ่งถ้าใครพึ่งจะเคยหัดใช้งานโปรแกรมนี้คงจะงงน่าดู เพราะมีอะไรก็ไม่รู้ดูแล้ววุ่นวายมึนงง 😖😖😖 แต่จริงๆแล้วตัวโปรแกรมก็ได้แบ่งหมวดหมู่เพื่อความง่ายในการเข้าถึงเครื่องมือต่างๆไว้ให้แล้ว มาดูกันทีละหัวข้อครับ
  • Histrogram : อยู่ที่ด้านบนสุดของตัว toolbar ฮิสทีเรีย เอ๊ย ฮิสโตแกรม คืออะไร อธิบายง่ายๆก็คือ กราฟที่แสดงจำนวนพิกเซลที่ความสว่างต่างๆ ไล่เรียงความสว่างจากด้านซ้ายมือสุดซึ่งก็คือส่วนมืด( Shadow)ไปยังขวามือสุดก็คือส่วนสว่าง(Highlight) โดยส่วนกลางของกราฟจะเป็นส่วนมิดโทน(Midtone) นั่นเอง หากใครชำนาญในการอ่านฮิสโตแกรมก็สามารถปรับความสว่างของภาพผ่านกราฟนี้ได้เลย เพียงแค่นำเมาท์ไปชี้ยังจุดที่ต้องการเพิ่มหรือลดแสง จากนั้นคลิ๊กแล้วเลื่อนไปเลื่อนมาได้เลย

White clipping warning และ Black clipping warning
      อีกทั้งยังสามารถตั้งให้ภาพของเราโชว์ Clipping warningในกรณีที่เราปรับแต่งภาพแล้วมืดหรือสว่างจนหลุด ฮิสโตแกรม โดยคลิ๊กที่รูปสามเหลี่ยมที่มุมซ้ายสำหรับ Shadow และขวาสำหรับ Highlight ของกราฟฮิสโตแกรม โดยภาพจะขึ้นสีแดงในกรณีที่มีส่วนไฮท์ไลท์หลุด(ภาพไม่มีรายละเอียด ขาวจั๊วะ) และสีดำในกรณีที่ชาโดว์หลุด (ภาพไม่มีรายละเอียด ดำปี๋)

Tool Strip
  • Tool Strip : เป็นเครื่องมือปรับแต่งภาพเฉพาะจุด ซึ่งมีเครื่องมือทั้งหมด 6 ตัว รายละเอียดในส่วนนี้ผมจะขอพูดถึงภายหลังใน part ต่อๆไปนะครับ

ฺBasic Adjustment panel
  • Basic Adjustment panel : ส่วนนี้เป็นส่วนสำหรับการปรับแต่งภาพพื้นฐาน ซึ่งในการปรับแต่งเหล่านี้จะส่งผลต่อภาพโดยรวมทั้งหมด เหมาะกับการปรับโทนภาพโดยรวมก่อนที่จะใช้เครื่องมือ Tool Strip ในการปรับแต่งภาพเฉพาะจุดอีกที
  1. Color และ Black & White ที่มุมบนสุดของพาแนลนี้เป็นตัวเลือกว่าต้องการภาพสีหรือขาวดำ (ง่ายๆ)
  2. WB : เป็นส่วนการปรับแต่งค่า White Balance ของภาพว่าต้องการให้โทนภาพเป็นอย่างไร เพียงแค่เลื่อน slide bar ไปมา โดยภาพที่แสดงผลจะแสดงผลออกมาแบบ real time ก็ปรับกันตามใจชอบได้ หรืออยากได้แบบสำเร็จรูปก็เพียงแค่คลิ๊กที่คำว่า “As Shot” ก็จะมีตัวเลือกสำเร็จรูปให้เลือกใช้ได้เลย
  3. Exposure : ไว้ใช้ปรับแต่ค่าความสว่างโดยรวมทั้งภาพ เลื่อนสไลด์บาร์ไปทางซ้าย(ตัวเลขติดลบ)เป็นการปรับให้มืดลง เลื่อนไปทางขวา(ตัวเลขติดบวก) ทำให้ภาพสว่างขึ้น
  4. Contrast : ค่าคอนทราสต์คือระดับความแตกต่างระหว่างส่วนที่สว่างกับส่วนที่มืดของตัวภาพ เลื่อนสไลด์บาร์ไปทางขวา(ตัวเลขติดบวก) เป็นการเพิ่มค่าคอนทราสต์ให้กับภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ความแตกต่างดังกล่าวข้างต้นนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนการเลื่อนสไลด์บาร์ไปทางซ้าย(ตัวเลขติดลบ) คือการลดค่าคอนทราสต์ จะทำให้ภาพดูซอฟท์ลง
  5. Highlights : คือส่วนที่สว่างสุดของภาพ ส่วนมากหากเป็นภาพถ่ายแลนด์สเคป ก็คือส่วนพระอาทิตย์ ท้องฟ้า หากเป็นภาพซิตี้สเคปก็คือไฟตึก ไฟถนน

 

ปรียบเทียบการปรับ Highlight ที่ตำแหน่ง -100 0 +100
      ปรับสไลด์บาร์ไปทางซ้าย(ตัวเลขติดลบ) คือการลดหรือเรียกคือส่วนสว่างของภาพกลับคืนมา (Recovery) ในกรณีที่ เราถ่ายภาพมาแล้วหลุดไฮท์ไลท์ แต่หากลดมากๆไปจะทำให้ภาพดูหมองๆมัวๆได้ หากปรับสไลด์ บาร์ไปทางขวา(ตัวเลขติดบวก) จะเป็นการเพิ่มแสงในส่วนสว่างให้มากขึ้นกว่าเดิม ดูตัวอย่างภาพได้จากด้านบน
6. Shadow : คือส่วนมืดของภาพ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือเงาหรือส่วนมืดของภาพ

เปรียบเทียบการปรับ Shadow ที่ตำแหน่ง -100 0 +100
      ปรับสไลด์บาร์ไปทางซ้าย(ตัวเลขติดลบ) เพื่อลดแสงในส่วนของ Shadow และปรับไปทางขวา (ตัวเลขติดบวก)เพื่อเพิ่มแสงในส่วน Shadow
7. White : จะมีลักษณะคล้ายๆกับ Highlight แต่ Highlight จะยุ่งกับส่วนที่สว่างที่สุดในภาพเท่านั้น แต่ แต่ White จะครอบคลุมช่วงการความสว่างมากกว่า Highlight แต่จะไม่กระทบ Midtone และ Shadow น้อย
8.Black : จะตรงข้ามกับ White คือยุ่งกับส่วนมืดอย่างเดียว และครอบคลุมช่วงที่มากกว่า Shadow
ซึ่งค่า White กับ Shadow ส่วนตัวผมไม่ค่อยยุ่งเท่าไหร่ จะใช้ Hihglight กับ Shadow ซะเป็นส่วนใหญ่
9. Clarity : อธิบายคร่าวๆก็คือ มันจะเป็นเครื่องมือที่เน้นเปลี่ยนแปลงพื้นผิวหรือ Textureให้ดูเด่นขึ้นหรือ
น้อยลง ซึ่งในการปรับนี้มันจะส่งผลต่อ Contrast และความคมชัด ของภาพด้วย

เปรียบเทียบการปรับ Clarity ที่ตำแหน่ง -100 0 +100
      เลื่อนสไลด์บาร์ไปทางซ้าย(ตัวเลขติดลบ) เป็นการลด Clarity เลื่อนไปทางขวา(ตัวเลขติดบวก) เป็นการเพิ่ม Clarity ของภาพ
10. Saturation : คือความอิ่มตัวของสี ซึ่งการปรับค่า Saturation นั้นจะส่งผลกับสีทุกสีในภาพเท่าๆกัน หมายความว่าถ้าสีสดก็จะสดทั้งภาพ ถ้าสีหม่นก็หม่นทั้งภาพ

เปรียบเทียบการปรับ Saturation ที่ตำแหน่ง -100 0 +100
11. Vibrant : คือความอิ่มตัวของสี และมีความหมายเดียวกันกับ Saturation แต่จะแตกต่างกันที่ผลของสีที่ถูกปรับ

เปรียบเทียบการปรับ Vibrant ที่ตำแหน่ง -100 0 +100
      เนื่องจากการปรับค่า Vibrant จะมีผลกระทบต่อสีที่มีความอิ่มตัวน้อย มากกว่าสีที่มีความอิ่มตัวมาก พูดให้ฟังดูง่ายคือ การปรับค่า Vibrant จะทำให้ภาพดูแรดน้อยกว่าการปรับค่า Saturation นั่นเอง

อยากให้ภาพแรดเยอะให้ปรับ Saturation อยากให้ภาพแรดน้อยหน่อยให้ปรับ Vibrant

สำหรับ Part 1 ผมจบไว้แค่นี้ก่อน และจะมาเขียนขยายความต่อสำหรับส่วนที่เหลือใน Develop module ใน part ต่อๆไปครับ ขอบคุณครับ……

0 responses on "Basic Lightroom : Develop Module part 1"

Leave a Message

Your email address will not be published.

top
Copyright © 2021 PhotoHackz