
“ไม่เห็นมีข้อความหรือโลโก้ระบุไว้ที่ภาพซักหน่อยว่าใครเป็นเจ้าของ ก็เลยนึกว่าไม่มีเจ้าของ เลยคิดว่าคงเอาไปใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาติ”
หลายๆท่านอาจจะมีประสบการณ์แบบข้อความข้างต้นมาบ้าง ที่ภาพของท่านโดนเอาไปใช้โดยไม่ขออนุญาติ ยิ่งเอาภาพไปใช้หาผลประโยชน์ให้ตัวเองยิ่งแล้วใหญ่ น่าฟ้องซะให้เข็ด ซึ่งถ้าใครได้อ่านบทความก่อนหน้าที่ผมเคยเขียนไป (เทคนิคการใส่ข้อมูลลิขสิทธิ์ (Copyright) ลงในภาพของเราด้วยโปรแกรม Lightroom) คงได้ทราบกันแล้วว่าภาพถ่ายของเราไม่ว่าจะถ่ายด้วยกล้องฟิลม์หรือกล้องดิจิตอลจะมีกฏหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองอยู่แล้ว โดยที่ไม่ต้องไปทำการจดทะเบียนลิขสิทธิ์แต่อย่างใด ซึ่งหากใครถือวิสาสะนำภาพของเราไปใช้งานโดยไม่แจ้ง เราก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้เลยครับ
แต่ถ้าท่านคิดว่าแค่นี้ยังไม่พอ กลัวจะมีคนแอบเอาภาพเราไปใช้งานได้อีก วันนี้ผมเลยจะมานำเสนอวิธีการใส่ลายน้ำ (Watermark) (ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงลิขสิทธิ์ของภาพของเราเพื่อให้ผู้อื่นเห็นอย่างเด่นชัด) ให้กับภาพของเราโดยใช้โปรแกรม Lightroom ก่อนที่จะนำไปใช้งานกันครับ
- อันดับแรกเปิดโปรแกรม Lightroom กันก่อนครับ จากนั้นให้คลิ๊กขวาที่ภาพของเรา แล้วเลือก Export > Export… ตามภาพด้านบนครับ
- จากนั้นก็จะมีป๊อปอัพเด้งขึ้นมา ให้เราหาแท็ป “Watermarking” ให้คลิ๊กเข้าไปแล้วเลือก Edit Watermarks…
โปรแกรมก็จะพาเข้าไปที่หน้าต่าง Watermark Editor ตามรูปด้านบน ซึ่งผมแบ่งหน้าต่างเป็น 4 ส่วน แต่ละส่วนก็จะมีรายละเอียดดังนี้ครับ
- Image Options : ส่วนนี้เราสามารถเลือกได้ว่าจะให้ลายน้ำของเราเป็นแบบตัวหนังสือหรือแบบรูปภาพ หากต้องการให้ลายน้ำเป็นตัวหนังสือก็ไม่ต้องทำอะไรในส่วนนี้ครับ แต่หากใครอยากที่จะให้ลายน้ำเป็นแบบรูปภาพ ก็ให้เลือกตรงปุ่ม “Choose” แล้วเลือกไฟล์รูปหรือโลโก้ที่ต้องการจะนำมาเป็นลายน้ำ แนะนำให้ใช้ไฟล์นามสกุล .png เพราะสามารถเลือกให้พื้นหลังของภาพที่จะทำเป็นลายน้ำโปร่งแสงได้ (ปล ไม่ต้องสนตรง Watermark Style ที่จะมีให้เลือกระหว่าง Text หรือ Graphic นะครับ )
ตัวอย่างของภาพที่ใช้ลายน้ำแบบรูปภาพ
- Text Options : ก็จะเป็นส่วนที่เกี่ยวการทำลายน้ำแบบตัวหนังสือ โดยจะมีตัวเลือกในการปรับแต่งเกี่ยวกับชนิด และ สี ของตัวหนังสือ และในส่วนของ Shadow ก็จะเป็นตัวเลือกในการปรับแต่งเกี่ยวกับเงาของตัวหนังสือครับ ลองไปปรับเล่นกันดูได้ครับ ง่ายๆ
- Watermark Effects : เป็นตัวเลือกเกี่ยวกับการปรับแต่งลายน้ำของเรา ทั้งแบบตัวหนังสือหรือแบบรูปภาพ
- Opacity : ปรับความโปร่งแสงของลายน้ำ อยากให้ลายน้ำของเราเข้มหรือทึบมากน้อยขนาดไหน ปรับตรงนี้รับ
- Size : ปรับขนาดของลายน้ำ
- Proportional เป็นตัวเลือกให้ลายน้ำของเราเป็นอัตราส่วน หมายความว่าหากเราเลื่อนสไลเดอร์ด้านล่างไปมา ลายน้ำก็จะขยายหรือลดขนาดเป็นไปตามสัดส่วนของตัวลายน้ำเอง
- Fit หากเราเลือกส่วนี้ ลายน้ำแบบตัวหนังสือเราจะพอดีกับกรอบความกว้างหรือยาวของรูปภาพ และในกรณีที่เป็นลายน้ำแบบรูปภาพ ถ้าเลือกส่วนนี้โปรแกรมจะเลือกความละเอียดสูงสุดของรูปภาพเราครับ
- Fill หากลายน้ำแบบรูปภาพที่เราเลือกมีขนาดเล็กกว่าขนาดภาพ หากเราเลือกส่วนนี้ โปรแกรมจะขยายภาพลายน้ำของเราออกไป เพื่อให้พอดีกับขนาดของภาพครับ
- Inset ไว้ปรับระยะแนวตั้งและแนวนอนของลายน้ำของเราแบบละเอียด
- Anchor ไว้สำหรับปรับตำแหน่งของลายน้ำในภาพของเรา จุดเล็กๆแทนถึงตำแหน่ง บน กลาง ล่าง ซ้าย ขวา ของลายน้ำในภาพของเราครับ
- ส่วนนี้มีไว้กรอกรายละเอียดของลายน้ำแบบตัวอักษรครับ อยากเขียนอะไรลงไปได้เลยครับ
จากนั้นกดปุ่ม Save ก็จะมีป็อปอัพขึ้นมาเพื่อให้เราตั้งชื่อลายน้ำของเรา ตั้งชื่อเสร็จกด Creat ก็เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนการใส่ลายน้ำให้กับภาพของเราครับ เมื่อเรา Export ภาพของเราเสร็จสิ้น ภาพของเราก็จะมีลายน้ำเป็นที่เรียบร้อยครับ
หรือในกรณีที่เราต้องการแก้ไขข้อมูลลายน้ำของเรา ก็แค่ไปเลือก Edit Watermarks… แล้วก็จัดการแก้ไขข้อมูลให้เรียบร้อย จากนั้นก็จะมีป็อปอัพมาให้เราตั้งชื่อลายน้ำของเราอีกรอบ (เซฟทับไม่ได้นะครับ ต้องตั้งชื่อใหม่)
โดยหากเราต้องการแก้ไข หรือลบลายน้ำของเก่า เราก็แค่คลิ๊กที่มุมขวาของ Watermark Editor ซึ่งก็จะมีรายละเอียดดังนี้ครับ
- Save Current Settings as New Preset : เซฟลายน้ำของเราในชื่อใหม่
- Restore Default Presets : รีเซทรายละเอียดของลายน้ำทั้งหมดให้เป็นค่าเริ่มต้น
- Delete preset : ลบข้อมูลลายน้ำที่เราเลือก
- Rename preset : เปลี่ยนชื่อลายน้ำของเรา
จบสิ้นกระบวนการสร้างและแก้ไขลายน้ำแล้วครับ ต่อไปใครจะนำภาพของเราไปใช้ ถ้าเห็นลายน้ำก็คงรู้แล้วว่ามีเจ้าของ หวังว่าคงจะไม่เอาไปใช้ แต่หากยังดื้อดึง ลบลายน้ำแล้วเอาไปใช้อีก ก็คงต้องฟ้องกันให้รู้แล้วรู้รอดกันเลยครับ สวัสดีครับ
0 responses on "วิธีการใส่ลายน้ำ (Watermark) ให้กับภาพของเราก่อนที่จะนำไปใช้งานด้วย Lightroom"